ไผ่พลิกฟื้นแม่แจ่ม

13 January 2020
ณัฏฐวุฒิ ลอยสา โครงการนักข่าวป่าไม้ Young Forestry Journalist Fellowship 2019
การปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้ดินเสื่อมโทรม พื้นที่ป่าลดลง จนกลายเป็นเขาหัวโล้น พบเห็นได้หลายพื้นที่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะอำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาก จึงเป็นที่มาของการปลูกไผ่เป็นพืชนำ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม จากการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐ
Talk of the Forest
Young Forestry Journalist Fellowship 2019, V4MF Thailand
Young Forestry Journalist Fellowship 2019, V4MF Thailand

บทเรียนจากไร่ข้าวโพด

แม่แจ่มเป็นอำเภอเล็ก ๆ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร พื้นที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา ผู้คนในพื้นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เพราะวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนแม่แจ่มคือการทำไร่หมุนเวียน จึงทำเกษตรเลี้ยงชีพเป็นหลัก  เนื่องจากภาครัฐมีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดมากขึ้น เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกร พ.ศ.๒๕๕๒ และโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร พ.ศ.๒๕๔๘ โดยลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแนวภูเขา ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพด อีกทั้งยังใช้น้ำน้อย แต่ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเลือกข้าวโพดเป็นตัวที่คอยสร้างรายได้ให้กับครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันการปลูกข้าวโพดเป็นเวลานานทำให้ดินขาดเเคลนความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากแร่ธาตุในดินหมดไปกับการปลูกข้าวโพดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกทั้งหลังการเก็บเกี่ยวต้องทำการเผาซังตอ เพราะว่าพื้นที่ดอนไม่สามารถไถกลบได้เหมือนกับพื้นที่ราบ จนกลายเป็นภาพเขาหัวโล้น ปัญหาที่ตามมาคือ ปัญหาหมอกควันซึ่งแพร่ขยายไปในวงกว้างจากชุมชนเข้าสู่เมือง คนภายนอกมองว่าปัญหาหมอกควันเหล่านี้มีสาเหตุมาจากชุมชนที่เผาไร่ข้าวโพด ส่งผลเกษตรกรตกเป็นจำเลยของสังคม

โมเดลเปลี่ยนแปลง

ปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เกิดโครงการแม่แจ่มโมเดล เพื่อการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ลดจุดเกิดเพลิงไหม้ ภาคประชาสังคมเขียนโครงการร่วมกับภาครัฐในพื้นที่ ผลักดันจนเป็นคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ส่งเสริมการสร้างป่าสร้างรายได้ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะจัดสรรที่ดินในเขตป่าลุ่มน้ำ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ ทั้งก่อนและหลังมติ ครม. เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑ ทั้งหมด ๒๙,๖๒๗ ไร่ ให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำกิน โดยกรมป่าไม้ได้ทำโครงการเปลี่ยนไร่ข้าวโพดให้เป็นเกษตรผสมผสาน เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นทั้ง ๕๘ ชนิด แซมในพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทำกิน หลังจากทำไร่ข้าวโพดจนดินเสื่อมโทรม

ต่อมาโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสจึงเกิดขึ้นตามมา ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างป่าไม้กับชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ภาครัฐกับชุมชนได้ประโยชน์ร่วมกัน ชุมชนได้พื้นที่ทำกินและมีการส่งเสริมอาชีพ ในขณะที่ภาครัฐได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากการจัดการดูแลป่าร่วมกับชุมชน นอกจากนี้ยังมีการยกระดับศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ และที่สำคัญต้องสานพลังจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน โดยใช้ตลาดนำการฟื้นฟูระบบนิเวศควบคู่กับการสร้างอาชีพรายได้

พืชที่ตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและรายได้เกษตรกรในพื้นที่แม่แจ่ม คือ ไผ่และกาแฟอาราบิก้า แต่เน้นไปที่ขั้นตอนการวางแผนปลูกไผ่ เพราะมีแนวทางไปต่อได้มากกว่า อีกทั้งยังฟื้นฟูเขาหัวโล้นให้เป็นพื้นที่ที่มีดินกลับมาอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้น แล้วจึงนำไผ่ไปส่งขายสู่ตลาดเพื่อแปรรูป และหาวิธีการแปรรูปไผ่ด้วยศักยภาพของเกษตรกรเอง หลังจากนั้นจึงทำการปลูกพืชแบบหมุนเวียนเพื่อสร้างภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ดีอย่างยั่งยืน

โครงการนักข่าวป่าไม้
กล้าไผ่ที่ชาวบ้านระดมกันหามา

‘ไผ่’ พืชเบิกนำการฟื้นฟู และทำไมต้องเป็นไผ่? 

ไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้าที่สูงใหญ่ ขึ้นเป็นกอ มีลำต้นเป็นปล้อง ๆ พบได้ทั่วไปในประเทศไทย เพราะสภาพอากาศในพื้นที่เขตร้อนเอื้อต่อการเจริญเติบโต ไผ่สามารถกักเก็บน้ำปริมาณมาก ด้วยรากขนาด ๘๐ เซนติเมตร คอยทำหน้าที่ยึดหน้าดิน และดูดน้ำจากดินเก็บไว้ในลำต้นช่วงเวลากลางวัน ส่วนช่วงเวลากลางคืนจะปล่อยน้ำกลับลงสู่ดินตามเดิม นอกจากนี้ไผ่ยังมีศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนได้มากกว่าพืชชนิดอื่นถึง ๕ เท่า และปล่อยก๊าซออกซิเจนได้มากกว่าถึง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ อาจเรียกได้ว่าไผ่เป็นพืชช่วยรักษ์โลกได้ดีเลยทีเดียว

เมื่อฤดูฝนมาถึงก็เป็นเวลาเหมาะแก่การนำกล้าไผ่ลงดิน เพราะไผ่ต้องการน้ำปริมาณมากในการเจริญเติบโต จนลำต้นมีอายุได้ประมาณ ๓ - ๕ ปี จึงสามารถตัดออกเพื่อส่งขายหรือแปรรูปต่อ แล้วหน่อไม้จะขึ้นมาแทนที่ต้นที่ถูกตัดออกไป ไผ่มีหลายสายพันธุ์ ต้องเลือกปลูกให้เหมาะแก่การนำไปใช้งาน เพราะไผ่แต่ละชนิดมีลักษณะลำต้นแตกต่างกันออกไป และระยะห่างระหว่างข้อก็ไม่เท่ากัน  การขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธี คือ การปักชำ การตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด โดยการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดมีโอกาสติดน้อยกว่าการตอนกิ่งและการปักชำเป็นอย่างมาก ซึ่งวิธีนี้เหมาะแก่การเพาะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มากกว่า ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยวิธีที่ไม่ใช้เมล็ดมีโอกาสติดถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์

โครงการนักข่าวป่าไม้
ถังชุบน้ำยาเพื่อป้องกันมอด และตู้อบไผ่พลังงานแสงอาทิตย์

แปรรูปไผ่สร้างมูลค่าเพิ่ม

ตลาดโลกต้องการวัตถุดิบเป็นอย่างมากในหลายอุตสาหกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงระดับราคายังสูงเพราะสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แม้ในประเทศไทยเองไผ่ยังอยู่ในระดับชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมไม่มากนัก แต่ในอำเภอแม่แจ่มยังมีหลายภาคธุรกิจสนับสนุนเงินบริจาคอย่างต่อเนื่อง และยังมองหาลู่ทางความหวังใหม่จากการแปรรูปไผ่ให้ชุมชน

 

มีการหารือร่วมกันหลายภาคส่วนถึงการแปรรูปไผ่ในพื้นที่ เพื่อตอบคำถามว่าปลูกไผ่แล้วไปยังไงต่อ?

คมวิทย์ ธำรงกิจ รองนายกสมาคมธุรกิจไม้ เล็งเห็นธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกาะมัลดีฟส์ โดยรีสอร์ท หลายแห่งมีความต้องการวัสดุมุงหลังคาด้วยจาก พบว่ามีวัสดุทำเป็นหลังคาจากเทียมเพื่อทดแทนหลังคาจากแท้ที่ไม่เพียงพอ ราคาสูงถึงตารางเมตรละ ๘๐๐ บาท ซึ่งวัสดุทำมาจากพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง หรือ HDPE (High Density Polyethylene) มีค่าสัมประสิทธิ์ความร้อนประมาณ ๐.๔๘ ในทางกลับกัน ไผ่มีค่าสัมประสิทธิ์นำความร้อน ๐.๑๔ ถ้านำไผ่มาทำเป็นหลังคาจากเทียม เพื่อปูมุงหลังคาจะมีความเย็นกว่า HDPE แต่ต้องใช้เครื่องอัดน้ำยาเพื่อยืดอายุใช้งานของวัสดุ

โครงการนักข่าป่าไม้
ไผ่ผ่าซีกนำมาทำเป็นหลังคาจากเทียม

จึงเริ่มดำเนินการวางแผนการจัดการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และสร้างโรงงานแปรรูปไผ่ขนาดเล็ก มีเครื่องจักรอัดไม้ไผ่ผ่าซีก สร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน เพื่อปลูกไผ่ต่อตามแนวทางการฟื้นฟู โดยให้ชาวบ้านตัดไผ่จากหัวไร่ปลายนาที่มีอยู่มาแปรรูปเป็นอันดับแรก เมื่อเห็นผลลัพธ์ว่าหลังคาจากเทียมจากวัสดุซีกไผ่ประสบความสำเร็จสร้างกำไรให้กับชุมชน จึงค่อยเริ่มแปรรูปไผ่เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามแผนที่วางกันไว้ในระยะต่อไป

โครงการนักข่าวป่าไม้
เครื่องจักรแรงงานชาวบ้านอัดลำไผ่ผ่าซีก

มูลค่าเพิ่มจากปล้องไผ่

นอกจากลำไผ่ที่สามารถแปรรูปได้ครอบจักรวาลแล้ว ข้อไผ่และขี้เลื่อยที่เหลือจากการตัดลำไผ่ ยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงเลยทีเดียว

ไผ่สามารถนำมาแปรรูปเป็นสินค้าอะไรได้อีกบ้าง?

ถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) เป็นวัสดุคาร์บอนคุณภาพสูง รูพรุนมาก จึงมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษ การผลิตจากส่วนข้อปล้อง นำเผาในเตาด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส จะได้ไผ่กัมมันต์ที่มีประสิทธิภาพความแข็งแรงกว่าถ่านไม้ทั่วไป เมื่อนำมาทดสอบถ่านไผ่ธรรมดากับถ่านไม้กัมมันต์โดยการโยนลงพื้นพบว่าไม่แตกหัก ส่วนถ่านไม้ธรรมดาแตกเป็นเศษชิ้นเล็ก ๆ  โดยชนิดของไผ่ที่นิยมนำมาทำ คือ ไผ่ตงลืมแล้ง (ตงอินโด) ไผ่กิมซุง (ไผ่ไต้หวัน หรือไผ่เขียวเขาสมิง) ไผ่แม่ตะวอ ไผ่รวกและไผ่ซาง ที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย ซึ่งยังถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง โดยประเทศญี่ปุ่นมีการนำถ่านกัมมันต์ที่บดเป็นผงถ่านชาร์โคแล้ว มาผสมเข้ากับเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า สามารถช่วยในการชะลอความแก่และเพิ่มความกระจ่างใสให้กับผิวหน้าได้

นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเชื้อเพลิง ถ่านไฟฉายด้วย เนื่องจากให้พลังงานความร้อนสูง โดยมูลค่าของถ่านกัมมันต์ต่อปีมีความต้องการ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ตัน/ปี มูลค่าตันละ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ บาท (๑,๐๐๐-๑,๓๐๐ เหรียญสหรัฐ) คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายมากถึงปีละ ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (มากกว่าการส่งข้าวออกของไทย ๒ เท่า/ปี)  เชื้อเพลงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellet) มีศักยภาพด้านพลังงานที่สูงมาก สามารถกักเก็บพลังงานความร้อนได้สูงหรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันดิบชีวมวลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน การผลิตผลิตโดย การนำเศษไม้หรือขี้เลื่อยที่เหลือจากการแปรรูป นำมาย่อยและลดความชื้น จากนั้นนำมาอัดเป็นเม็ดหรือแท่ง ซึ่งจะได้เชื้อเพลิงชีวมวลที่มีค่าความชื้นต่ำและมีค่าความร้อนสูง ข้อดีของการทำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดเป็นแท่ง คือสามารถกำหนดปริมาณของการใช้เชื้อเพลิงแต่ละครั้งได้อย่างแม่นยำเนื่องจากมีขนาดเท่ากันทุกชิ้น และมีขนาดเล็กสามารถนำไปใช้ในระบบการป้อนเชื้อเพลิงอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดในอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ความต้องการ Wood Pellet ของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น ภายหลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของญี่ปุ่น เปิดดำเนินการในปี ๒๕๖๒-๒๕๖๕ เนื่องจากญี่ปุ่นมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดเพื่อนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งความต้องการจะเพิ่มขึ้นจาก ๑.๒ ล้านตันในปี ๒๕๖๒ มาเป็น ๒ ล้านตันในปี ๒๕๖๓-๒๕๖๔

ส่วนความต้องการพลังงานชีวมวลในประเทศเขตหนาวเย็น เช่น สหรัฐอเมริกา ยังมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากในฤดูหนาวทุกบ้านต้องใช้เตาไฟในการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ซึ่งเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวลถือเป็นตัวควบคุมความร้อนของเตาผิงไผในบ้าน ส่งผลให้ความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดแห้งมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นปีละ ๒-๔ ตัน/บ้าน แต่มีขนาดโรงงานผลิตเม็ดเชื้อเพลิงแห้งขนาด ๕๐๐ ล้าน ตัน/ปี แสดงให้เห็นว่าตลาดพลังงานความร้อนนั้นมีมูลค่าที่สูงมาก มีมูลค่าการตลาดกว่า ๓.๓ ล้านล้านบาท/ปี และความต้องการเม็ดเชื้อเพลิงแห้งยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังต้องการใช้ความร้อนอยู่

 

มีศักยภาพแต่ขาดการผลักดัน

นายสมเกียรติ  มีธรรม เลขาธิการมูลนิธิฮักเมืองแจ่ม เล่าว่า ไผ่จากโครงการแสนกล้าดีภายใต้แนวทางแม่แจ่มโมเดลพลัส ถูกนำมาปลูกแซมในพื้นที่ไร่ข้าวโพดของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้นจากการเผาไร่ข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยว โดยการปลูกไผ่แซมบริเวณไร่แบบวนเกษตรในพื้นที่บางส่วน แทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว โดยทางมูลนิธิได้จัดคณะเพื่อไปศึกษาดูงานในหลายพื้นที่ เช่น ประเทศจีน น่าน และลำปาง พบว่าไผ่สามารถแปรรูปได้หลากหลายผลิตภัณฑ์

 

นายสมเกียรติ เล่าต่ออีกว่า ทางมูลนิธิจึงได้ยื่นข้อเสนอถึงสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อผลักดันไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งเมื่อปลายปีพ.ศ. ๒๕๖๑ ครม. มีความเห็นชอบเรื่องไผ่ แต่ในเชิงนโยบายยังไม่มีการออกนโยบายใด ๆ รวมถึงประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้ งานวิจัย และระบบการจัดการไผ่ ภาครัฐจึงควรเข้ามาส่งเสริมการค้นคว้าองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อสร้างกำลังผลิตให้มากพอต่อความต้องการของตลาดไผ่ทั้งในและต่างประเทศ

ด้วยคุณค่าของไผ่ มีโอกาสไปต่อได้อย่างแน่นอน และช่วยพลิกฟื้นเขาหัวโล้นให้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี พร้อมกับตลาดที่เปิดกว้างทั้งในและต่างประเทศ จะทำอย่างไรให้เกิดการส่งเสริมอย่างจริงจังกับพืชทางเลือกอย่างไผ่ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับปากท้องของเกษตรกรไทยต่อไป

จับตาอนาคตไผ่ไทย

นโยบายระดับชาติยังไม่ปรากฏ พบเพียงยุทธศาสตร์ในระดับชุมชนเพียงเท่านั้น รวมถึงประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้ งานวิจัย และระบบการจัดการไผ่ที่เหมาะสม ภาครัฐจึงควรเข้ามาส่งเสริมการค้นคว้าองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจ และเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการต่อตลาดไผ่ที่เปิดกว้าง 

 

*ผลงานจากโครงการ Young Forest Journalist Fellowshhip 2019 หรือ โครงการนักข่าวป่าไม้รุ่นใหม่ 2019 คิด-เขียน-สร้างสรรค์ เพื่อธรรมาภิบาลป่าไม้ไทย  ร่วมสร้างสรรค์และสนับสนุนโดย Voices for Mekong Forest (V4MF), ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย และสหภาพยุโรป

โครงการนักข่าวป่าไม้