RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

สรุปหลักการและสาระสำคัญ ของ (ร่าง) พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... (สภานิติบัญญัติได้ให้ความเห็นชอบแล้ว)

09 April 2019
ประทีป มีคติธรรม
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในคราวการประชุมครั้งที่ ๑๓/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... โดยกฎหมายฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน
In Focus
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

(ร่าง) พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... ที่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1. พื้นที่ที่จะนำป่าจัดตั้งเป็นป่าชุมชน

ป่าที่จะนำมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ได้แก่ เขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือเขตพื้นที่อื่นใดที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือคุณค่าอื่นอันควรแก่การอนุรักษ์หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2.วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งป่าชุมชน

การขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชนต้องมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูพื้นที่ป่าในเขตป่าชุมชนโดยการปลูกทดแทน การเสริมสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในการจัดการป่าชุมชน การส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณีที่หลากหลายของชุมชนในการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การพัฒนา การควบคุมดูแล และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน

3. สถานภาพทางกฎหมายของพื้นที่ป่าชุมชนที่ได้จัดตั้ง

ป่าชุมชนที่ได้รับการจัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวเขตหรือเพิกถอนพื้นที่ป่า หรือเปลี่ยนแปลงสถานะหรือถอนสภาพพื้นที่อื่นของรัฐที่นำมาจัดตั้งป่าชุมชน แต่จะมีผลยกเว้นมิให้นำกฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาตมาใช้บังคับเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเพิกถอนป่าชุมชน

4. กลไกการบริหารจัดการป่าชุมชน

กำหนดให้มีกลไกการบริหารจัดการป่าชุมชน 3 ระดับ คือ

4.1 คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน

มีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 11 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากกระบวนการสรรหาจำนวนไม่เกิน 8 คน โดยมีอธิบดีกรมป่าไม้เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนป่าชุมชนและเครือข่ายป่าชุมชน หรือพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับป่าชุมชนตามคณะรัฐมนตรีหรือนากยรัฐมนตรีมอบหมาย รวมทั้งพิจารณาอุทธรณ์มติเกี่ยวกับการขอจัดตั้งหรือเพิกถอนป่าชุมชน

4.2 คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด

คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด   จะจัดให้มีเฉพาะในจังหวัดที่มีคำขอจัดตั้งป่าชุมชนหรือมีการจัดตั้งป่าชุมชนเท่านั้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากหน่วยงานรัฐต่างๆ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนในจังหวัด โดยมีข้าราชการกรมป่าไม้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นเลขานุการ ทั้งนี้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับคำขอจัดตั้งป่าชุมชน การขยายเขตป่าชุมชน หรือการเพิกถอนป่าชุมชนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

4.3 คณะกรรมการจัดการป่าชุมชน

เมื่ออธิบดีกรมป่าไม้ได้มีประกาศอนุมัติให้จัดตั้งป่าชุมชนในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กำหนดให้ผู้มีรายชื่อเป็นคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนตามที่ปรากฎในคำขอจัดตั้งป่าชุมชนเป็นคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน มีหน้าที่ร่วมกับสมาชิกชุมชนจัดการป่าชุมชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของป่าชุมชนและแผนการจัดการป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติ ตลอดทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจัดให้มีหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายอื่นใดแสดงแนวเขตป่าชุมชน จัดการทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชน ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน ดูแลรักษาป่าชุมชนเป็นต้น

นอกจากนั้นกฎหมายยังรับรองให้มี “เครือข่ายป่าชุมชน” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนหรือสมาชิกป่าชุมชนของชุมชนต่างๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อเรียนรู้ สร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การจัดการป่าชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน

5. การยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชน

กำหนดให้ชุมชนในท้องที่ที่อยู่ในอำเภอเดียวกันกับพื้นที่ป่าซึ่งอยู่นอกเขตอนุรักษ์และสามารถดูแลรักษาป่านั้นได้ มีสิทธิยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยให้บุคคลในชุมชนนั้นซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไปและมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ที่ตั้งของป่าชุมชนที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน จำนวนตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปร่วมกันตั้งตัวแทนเพื่อยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ โดยคำขอจัดตั้งป่าชุมชนอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับ (1) วัตถุประสงค์ของป่าชุมชน (2) รายชื่อประประวัติโดยสังเขปของผู้ขอจัดตั้งป่าชุมชน (3) รายชื่อคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน (4) ความเป็นมาของชุมชนโดยสังเขป สภาพพื้นที่ที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน และแผนที่แสดงอาณาเขต (5) แผนจัดการป่าชุมชน และ (6) รายการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนกำหนด

ทั้งนี้ เมื่อได้รับคำขอจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้แห่งท้องที่ที่อธิบดีมอบหมาย ทำการตรวจสอบคำขอ เอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคำขอให้เสร็จภายใน 10 วัน หลังจากนั้นจึงดำเนินการตรวจสอบและรังวัดพื้นที่ที่ขอจัดตั้งป่าชุมชน พร้อมทั้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตของป่าชุมชนไว้ในที่เปิดเผย ณ ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอแห่งท้องที่ที่ขอจัดตั้งป่าชุมชนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใด มีสิทธิทำหนังสือคัดค้านคำขอจัดตั้งป่าชุมชนต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด เมื่อพ้นระยะเวลา 30 วันแล้ว ให้เสนอต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดตั้งป่าชุมชนต่อ และเสนออธิบดีกรมป่าไม้เพื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเห็นชอบให้จัดตั้งป่าชุมชนต่อไป ในกรณีที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดไม่ให้ความเห็นชอบ ผู้ขอจัดตั้งป่าชุมชนมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนได้

ป่าชุมชน

6. การเพิกถอนป่าชุมชน

อธิบดีมีอำนาจในการสั่งเพิกถอนป่าชุมชนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑) คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนขอให้เพิกถอนป่าชุมชน (๒) คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนทอดทิ้งไม่จัดการฟื้นฟูป่าชุมชนนั้นต่อไป (๓) คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือระเบียบหรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ อันจะเป็นเหตุให้ป่าชุมชนได้รับความเสียหายหรือมีเหตุไม่ควรไว้วางใจให้จัดการป่าชุมชนนั้นต่อไป และ (๓) เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นทางด้านกิจการเพื่อความมั่นคงของประเทศโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ การเพิกถอนป่าชุมชนจะมีผลเมื่อได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

7. การจัดการป่าชุมชน

7.1 สมาชิกป่าชุมชนและหน้าที่

กำหนดให้ผู้มีรายชื่อเป็นสมาชิกป่าชุมชนที่ปรากฎในคำขอจัดตั้งป่าชุมชนเป็นสมาชิกป่าชุมชนเมือ่ได้ประกาศการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว สมาชิกป่าชุมชนมีหน้าที่ในการดูแล รักษาป่าชุมชน ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนตลอดจนข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและแผนจัดการป่าชุมชน รวมทั้งร่วมมือกับทางราชการในการดูแลรักษาป่าชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชน กรณีที่สมาชิกป่าชุมชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่อาจมีมติให้สมาชิกผู้นั้นพ้นจากการเป็นสมาชิกป่าชุมชนได้

7.2 แผนการจัดการป่าชุมชน

กำหนดให้ชุมชนต้องจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิธีการดำเนินการจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา หรือใช้ประโยชน์จากป่า ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยแผนดังกล่าวมีอายุการใช้บังคับเป็นเวลา 5 ปี เมื่อครบกำหนดเวลาให้คณะกรรรมการจัดการป่าชุมชนเสนอแผนการจัดการป่าชุมชนใหม่เพื่อให้ชุมชนได้มีโอกาสในการทบทวนแผน ทั้งนี้แผนการจัดการป่าชุมชนที่ชุมชนจัดทำขึ้นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด และคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนมีหน้าที่ในการจัดการป่าชุมชนให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว

8. การใช้ประโยชน์ในป่าชุมชน

คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์ในป่าชุมชนในด้านต่างๆ ได้แก่ 1.) ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน 2.) การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนและการพักผ่อนหย่อนใจ 2.) เก็บหาของป่า 3.) ใช้ประโยชน์จากไม้ในบริเวณที่กำหนดให้เป็นเขตใช้ประโยชน์ โดยให้ใช้สอยในครัวเรือนของสมาชิกป่าชุมชนหรือใช้ในกิจการสาธารณะภายในชุมชน และ 4.) ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนตามความจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนสมาชิกป่าชุมชน ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนการจัดการป่าชุมชนที่คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดอนุมัติและอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลและยั่งยืน

9. เงื่อนไขการใช้ประโยชน์ในเขตป่าชุมชน

ภายในป่าชุมชน กำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการดังต่อไปนี้ ๑.) ยึดถือ ครอบครอบหรือใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน ๒.) ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ขุดหาแร่ ล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน เว้นแต่เป็นการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาและป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่ป่าชุมชนหรือเป็นการกระทำของกรรมการจัดการป่าชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน หรือสมาชิกป่าชุมชน ตามแผนจัดการป่าชุมชนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ๓.) การใช้ประโยชน์จากไม้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามมาตรา ๕๐(๒) หรือมาตรา ๕๒ ๔.) ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง เว้นแต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนตามมาตรา ๔๔(๓) เช่น การสร้างหอดูไฟป่า ฝายชะลอน้ำ ที่พักลาดตระเวน หรือศาลาเรียนรู้ เป็นต้น

10. เงื่อนไขข้อยกเว้นในบทเฉพาะกาล

10.1 ป่าชุมชนที่ได้จัดตั้งไว้เดิมแล้ว

กำหนดให้ป่าชุมชนที่ได้จัดตั้งกับกรมป่าไม้ไว้แล้วทั้งในส่วนของพื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินของรัฐประเภทอื่น (เช่น ที่สาธารณะประโยชน์ ที่ทหาร) และยังมีอายุโครงการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือว่าได้รับการจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว โดยให้ถือว่าการดำเนินการเกี่ยวกับป่าชุมชนตามโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามแผนการจัดการป่าชุมชนไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน แต่หากดำเนินการจัดทำแผนดังกล่าวไม่เสร็จภายในระยะ ๒ ปี จะมีผลให้ป่าชุมชนนั้นเป็นอันถูกเพิกถอนโดยทันที

ในกรณีป่าชุมชนที่จัดตั้งในที่ดินของรัฐประเภทอื่น หน่วยงานของรัฐที่ปกครองดูแลพื้นที่อาจไม่ยินยอมให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนต่อไปก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนกำหนด

10.2 ป่าชุมชนที่จัดตั้งไว้แล้วแต่ต่อมาถูกประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทับซ้อนภายหลังจัดตั้งเป็นป่าชุมชน

ในกรณีที่ได้ป่าชุมชนมีการจัดตั้งป่าชุมชนหรือพื้นที่อื่นของรัฐไว้ก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่นั้นเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติหรือกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้ป่าชุมชนนั้นเป็นป่าชุมชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป และมิให้นำกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติหรือกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาบังคับใช้พื้นที่ป่าชุมชน