RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

ก้าวแรกของพลเมืองสร้างป่า เพื่อเพาะกล้าไม้คุณภาพอย่างประณีตและฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน

04 February 2021
ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย
ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศไทยอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี จึงเป็นที่มาของการทำงานของภาคประชาสังคมในนามเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์โดยใช้ชื่อ “พลเมืองสร้างป่า” CITIZENS’ FOREST ซึ่งครอบคลุมถึง 38 จังหวัด กำหนดเป้าหมายเพาะและปลูกป่าจากเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพ โดยการรณรงค์สร้างป่าที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาควิชาการและหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ที่ตั้งต้นจากการค้นหาเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพ การสร้างความรู้จากการลงมือปฎิบัติ เพื่อให้ได้กล้าไม้จากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และนำไปปลูกในพื้นที่ที่ชุมชนดูแลและจัดการและใช้ประโยชน์ต่อไปด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นผู้รักษาเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และรวมถึงในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่อไป
Notes from the Field
คู่มือพลเมืองสร้างป่า
การอบรมพลเมืองสร้างป่า บ้านศรีบุญเรือง ต.พงษ์ จังหวัดน่าน (วันที่ 19-20 ก.ค. 2563)

ปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการประกาศรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมอบรมพลเมืองสร้างป่าและเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ เพื่อต่อยอดในการนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ และขยายพื้นที่สีเขียวในชุมชนของตนเอง ซึ่งได้รับความสนใจและมีผู้เข้าสมัครร่วมอบรมพลเมืองสร้างป่าที่จัดตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 104 คน (ชาย 55 คน และหญิง 49 คน) ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ส.ค.2563 ดังต่อไปนี้

  1. โรงเรียนปลูกป่า จ.ขอนแก่น
  2. บ้านศรีบุญเรือง บ้านดูพงษ์ และบ้านสบยาง จ.น่าน ตามลำดับ
  3. ศูนย์การเรียนรู้บ้านน้ำทรัพย์ จ.เพชรบุรี
  4. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตร จ.ฉะเชิงเทรา
Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Cr. รีคอฟ แผนงานประเทศไทย 

สรุปเนื้อหาในการอบรมพลเมืองสร้างป่าดังนี้ 

วันแรกนั้นจะเป็นการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของการฟื้นฟูป่า กฎหมายและนโยบายที่ดินที่เกี่ยวข้อง การคัดเลือกแม่ไม้ ประเภทของเม็ดพันธุ์ การจัดการเมล็ดเพื่อกระตุ้นการงอกและวางแผนการเพาะกล้า การเพาะกล้าไม้จากเมล็ด วิธีติดตามผลการงอกเมล็ด และการจัดการในเรือนเพาะชำ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านทฤษฎีรวมกับการฝึกปฎิบัติ และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน 

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
กระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์
Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
วางแผนการเพาะกล้า การเพาะกล้าไม้จากเมล็ด วิธีติดตามผลการงอกเมล็ด และการจัดการในเรือนเพาะชำ

วันที่สองจะเป็นการแลกเปลี่ยนวิธีการปลูกต้นไม้แบบประณีตโดยวิทยากรสาธิตในสถานที่เพาะปลูกจริงจากนั้นเป็นกระบวนการสาธิตและแลกเปลี่ยนเคล็ดลับของการปลูกกล้าไม้ให้อัตราการรอดตายสูงและเจริญเติบโตได้ดี  รวมถึงการอบรมวันที่ 2 เสร็จสิ้นโดยการหารือและวางแผนการทำงานในขั้นตอนถัดไปเพื่อการฟื้นฟูป่าที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ การดูแลกล้าไม้ การติดตามผล รวมทั้งหารือเพื่อค้นหาความสนใจในการพัฒนากิจกรรมหรือการอบรมที่ช่วยตอบโจทย์งานด้านการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ให้แก่คนและชุมชนในพื้นที่

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
การปลูกต้นไม้แบบประณีตโดยวิทยากรสาธิตในสถานที่เพาะปลูกจริง

นอกจากแนวคิด วิธีการ และเคล็ดลับต่างๆ ด้านการฟื้นฟูป่า ที่รีคอฟสนับสนุนให้แก่ชุมชน ในทุกกระบวนการรีคอฟยังเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนและตัดสินใจ และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมตลอดการเรียนรู้ในทุกกระบวนการ ซึ่งรีคอฟเชื่อว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการพัฒนา เรียนรู้ และปรับใช้ ให้เหมาะสมตามความสนใจและบริบทของแต่ละครัวเรือนอีกด้วย

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
วางแผนการทำงานเพื่อการฟื้นฟูป่าที่ประสบผลสำเร็จ

ทั้งนี้ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย  ขอขอบคุณกรมป่าไม้และนักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ในการศึกษาและลงมือปฏิบัติการเพื่อการฟื้นฟูป่าให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ ดร.ดำรง  พิพัฒนวัฒนากุล คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  Dr. Stephen Elliot หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์นพพร นนทภา หัวหน้ากลุ่มขุนดง และดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งได้ช่วยวางโครงร่าง ให้คำแนะนำและคำปรึกษาในการพัฒนาคู่มือเล่มนี้ขึ้นมา โดยหวังว่าคู่มือเล่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เราทุกคน ในนามของพลเมืองของโลกนี้ได้เริ่มต้นสร้างป่าที่มีคุณภาพและยั่งยืนร่วมกัน

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
การอบรมพลเมืองสร้างป่า วันที่ 6-7 สิงหาคม 2563  ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนเกษตร จ.ฉะเชิงเทรา

การอบรมพลเมืองสร้างป่าที่ผ่านมานั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากโครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้โดยเน้นภาคการผลิตตามแนวคิดเรดด์พลัสโดยอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชนและชุมชนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภูมิภาคเอเชีย หรือรู้จักในนามภูมิทัศน์ชีวิต (FLOURISH) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณู (BMU) ของประเทศเยอรมันนี ภายใต้แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI)  WWF-ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และศูนย์วนศาสตร์ชุุมชุนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) แผนงานประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง (CF-NET) ด้วยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป  ซึ่งคณะผู้จัดทำขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ด้วย 

 

ภารกิจของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งสวีเดน (Sida)